ข่าวสาร นปร. โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) รุ่นที่ 16 Public Service Agent for Change Development Program (PSAC) PSAC 16
เมื่อวันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2567 นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร., นางสาววิริยา เนตรน้อย รองเลขาธิการ ก.พ.ร. และหม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. นำคณะข้าราชการภายใต้โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร. รุ่นที่ 16) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ เข้าพบ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ รายละเอียดดังนี้
-- พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบาย และข้อแนะนำในการปฏิบัติราชการให้แก่ข้าราชการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) รุ่นที่ 16 : Public Service Agent for Change Development Program (PSAC) โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศข้อสั่งการและแนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานในสังกัดและในกำกับ นำนโยบายด้านการศึกษาของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา และนโยบาย ของกระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาเต็มกำลังความสามารถอย่างเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ภายใต้แนวทางความร่วมมือกันทำงานแบบ “จับมือไว้...แล้วไปด้วยกัน” โดยเน้นนโยบาย “เรียนดี...มีความสุข”
-- พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ได้กล่าวว่า การเรียนการสอนจำเป็นต้องเริ่มจากความสุข ทั้งของผู้เรียน ผู้สอน และผู้ปกครอง เพราะเมื่อมีความสุขแล้วก็จะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น และเมื่อการเรียนดีขึ้น ก็จะส่งผลกลับมาทำให้รู้สึกมีความสุขมากยิ่งขึ้น และสามารถบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่งคงของชีวิต
-- พล.ต.อ.เพิ่มพูน (รมว.ศธ.) กล่าวต่อไปว่า นโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการเน้นหนักในการทำงาน คือ 1) การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา มีนโยบายที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ การปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากร ลดขั้นตอนมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน, ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น, จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ, ยกเลิกเวรครู, จัดหานักการภารโรง และปรับลดงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน 2) การลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง มีนโยบายที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ การมีรายได้ระหว่างเรียนจบแล้วมีงานทำ และอาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาส
-- การจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ ทำให้ นปร. รุ่นที่ 16 ได้มีโอกาสเรียนรู้จากลงพื้นที่ และสร้างประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าประสงค์หลักของโครงการฯ เพื่อพัฒนาผู้เข้าร่วมโครงการฯ ให้เป็นข้าราชการที่มีความพร้อมในการพัฒนาระบบราชการ สามารถทำงานเชิงบูรณาการได้กับทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง (Agile Workforce) ทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนนวัตกรรม การบริการภาครัฐที่มี Value และ Impact ตลอดจนมีบทบาทเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) และมีขีดความสามารถเพื่อขยายผลการพัฒนาระบบราชการ (Agile Coach) ภายใต้โจทย์การพัฒนา 3 หมุดหมาย ได้แก่ 1) การเสริมสร้างระบบเพื่อเพิ่มศักยภาพและบทบาทของผู้ประกอบการเกษตร 2) การลดความยากจนด้วยการพัฒนากำลังคนภาคแรงงานและภาคการศึกษา และ 3) การบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในทุกมิติ